ระยะการเปลี่ยนรูป (deformation) หมายถึง ระยะที่วัสดุเปลี่ยนขนาด เช่น การยืดตัว กรหดตัว หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัสดุไปจากเดิม เป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ภายในเนื้อวัสดุ เนื่องมาจากเกิดความเค้น (stress) เพราะการถูกแรง (force) ภายนอกมากระทำ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนอุณหภูมิ ความดัน การวัดระยะการเปลี่ยนรูป เป็นการวัดระยะที่เปลี่ยนแปลงแปลงไปจากขนาดเริ่มต้น
การวิเคราะห์เนื้อสัมผัส (texture anlysis) ด้วยวิธีวัตถุวิสัย เป็นการวัดค่าแรงกับระยะการเปลี่ยนรูป ความสัมพันธ์แสดงเป็นกราฟ เรียกว่า force-deformation curve
การเปลี่ยนรูปของวัสดุทั่วไป สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. การเปลี่ยนรูปแบบอิลาสติก (elastic deformation) เป็นการเปลี่ยนรูปเมื่อมีแรงกระทำ แต่เมื่อปลดแรงกระทำ อะตอมซึ่งเคลื่อนไหวเนื่องจากผลของความเค้นจะเคลื่อนกลับเข้าตำแหน่งเดิม ทำให้วัสดุคงรูปร่างเดิมไว้ได้ ตัวอย่างได้แก่ ยางยืด สปริง ถ้าเราดึงมันแล้วปล่อยมันจะกลับไปมีขนาดเท่าเดิม
2. การเปลี่ยนรูปแบบพลาสติก (plastic deformation) เป็นการเปลี่ยนรูปที่ถึงแม้ว่าจะปลดแรงกระทำนั้นออกแล้ววัสดุก็ยังคงรูปร่างตามที่ถูกเปลี่ยนไปนั้น โดยอะตอมที่เคลื่อนที่ไปแล้วจะไม่กลับไปตำแหน่งเดิม
วัสดุทุกชนิดจะมีพฤติกรรมการเปลี่ยนรูปทั้งสองชนิดนี้ขึ้นอยู่กับแรงที่มากระทำ หรือ ความเค้นว่ามีมากน้อยเพียงใด หากไม่เกินพิกัดการคืนรูป (elastic limit) แล้ว วัสดุนั้นจะมีพฤติกรรมคืนรูปแบบอิลาสติก (elastic behavior) แต่ถ้าความเค้นเกินกว่าพิกัดการคืนรูปแล้ว วัสดุจะเกิดการเปลี่ยนรูปแบบถาวรหรือแบบพลาสติก (plastic deformation)
นอกจากความเครียดทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีความเครียดอีกประเภทหนึ่งซึ่งพบในวัสดุประเภทพอลิเมอร์ เช่น พลาสติก เรียกว่า ความเครียดกึ่งอิลาสติกจะมีลักษณะที่เมื่อปราศจากแรงกระทำวัสดุจะมีการคืนรูป แต่จะไม่กลับไปจนมีลักษณะเหมือนเดิมทั้งหมด
Reference