เหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) เป็นโลหะผสม (alloy) ที่นิยมใช้เพื่อเป็นวัสดุสร้างเครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร (food processing equipment) เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน และทนต่อการกัดกร่อน พื้นผิวที่สัมผัสกับอาหาร (food contact surface) มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ทำความสะอาดง่าย เป็นกลาง และไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร
ส่วนประกอบของเหล็กกล้าไร้สนิม
เหล็กกล้าไร้สนิมมีส่วนผสมหลักคือ โครเมียม (chromium) ซึ่งช่วยป้องกันการกัดกร่อน และนิกเกิล (Ni) มีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง โครเมียมป้องกันการกัดกร่อนจากปฏิกิริยาการรวมตัวกับออกซิเจน (oxidation) เป็นโครเมียมออกไซด์ (chromium oxide film : CrO2 หรือเรียกว่า passive film) ซึ่งเป็นฟิล์มบางมาก ติดแน่นที่ผิวของเหล็กกล้า ถ้าฟิล์มนี้ถูกทำลายจากแรงกล สารเคมี หรือออกซิเจน จะถูกสร้างทดแทนขึ้น ใหม่ด้วยตัวเอง เหล็กกล้าไร้สนิมต้องมีโครเมียม (chromium) ผสมอยู่อย่างน้อย 10.5 เปอร์เซ็นต์ และอาจมีส่วนผสมอื่นๆ เพื่อเพิ่มสมบัติการต้านทานการกัดกร่อน เช่น โมลิบดินัม (molybdenum) และไนโตรเจน (nitrogen) ซึ่งช่วยขจัดการเกิดการกัดกร่อนประเภทรูเข็มและมุมอับ ทองแดง (copper) จะช่วยเพิ่มคุณสมบัติการต้านทานการกัดกร่อนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
ส่วนประกอบของเหล็กกล้าไร้สนิม มักบอกเป็นสัดส่วน เช่น สเตนเลส 18/8 เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมที่มีโครเมียม 18 เปอร์เซ็นต์และนิกเกิล 8 เปอร์เซ็นต์
ชนิดของเหล็กกล้าไร้สนิม
เหล็กกล้าไร้สนิมชนิดออสเทนนิติก (Austenitic) เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมที่ The American Iron and Steel Institute (ASAI) จัดอยู่ในซีรี่ส์ 300 (series 300) เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมที่นำใช้งานอย่างกว้างขวางในเครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร เกรดที่นิยมใช้มากที่สุด คือ 304 และ 316มีส่วนผสมของโครเมียม (Cr) อย่างน้อย 16 เปอร์เซนต์ และมีนิกเกิล (Ni) ซึ่งช่วยปรับปรุงสมบัติในการขึ้นรูป ความแข็งแรง บางเกรดจะมี โมลิบดินัม (Mo) ผสมอยู่ด้วยเพื่อเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน
สำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์แปรรูปอาหารที่ใช้งานที่อุณหภูมิกว่า 150 องศาเซลเซียส และสัมผัสกับคลอรีนที่ความเข้มข้นสูง สเตนเลส 316 จะเกิดความเครียดและแตกร้าวได้ แนะนำให้ใช้สเตนเลส 410, 409 หรือ 329
การใช้แสตนเลสในเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์นม (dairy product)
เครื่องจักร อุปกรณ์ |
ประเภทของผลิตภัณฑ์ |
เกรด |
Refrigerated storage tank |
ผลิตภัณฑ์นม (dairy product) ทุกชนิด |
304 |
304, 316 |
||
316 |
||
Packaging machine |
น้ำนม, ครีม, โยเกิร์ต |
316 |
Ultra filtration equipment |
316 |
|
Maturation tank |
304 ,316 |
|
Cheese racks |
304 |
|
อุปกรณ์อื่นๆ |
ผลิตภัณฑ์นม (dairy product) ทุกชนิด |
304,316 |
การเชื่อมสเตนเลสตระกูลออสเทนนิติก (Austenitic) ทำได้ง่ายที่สุด และเชื่อมได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ความร้อนก่อนทำการเชื่อม หรือให้ความร้อนภายหลังการเชื่อม แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือผลของความร้อนที่สูงเกินไปจะทำให้เกรนหยาบและไม่ทนต่อแรงกระแทก นอกจากนี้อุณหภูมิสูงจะทำให้ชิ้นงานเชื่อมบิดเบี้ยวได้ เนื่องจากเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มนี้จะขยายตัวได้มากที่อุณหภูมิสูง (high thermal expansion) แต่การนำความร้อน (thermal conductivity) ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับเหล็กกล้าคาร์บอน การแก้ไขทำโดยการปรับกระแสไฟฟ้าในการเชื่อมให้ต่ำเพื่อควบคุมปริมาณความร้อนที่ให้กับชิ้นงาน หรือทำ preheat เพื่อให้ชิ้นงานมีอุณหภูมิสม่ำเสมอ นอกจากนี้อาจป้องกันโดยการใช้ clamp หรือ jig ช่วยยึดชิ้นงานเชื่อม การเชื่อมแบบ back step welding การเชื่อมแบบ balanced sequence welding หรือการเชื่อมทีละน้อยๆ จะลดการบิดเบี้ยวได้ ปัญหาอีกประการ คือการเกิดโครเมียมคาร์ไบด์บริเวณรอยเชื่อม ทำให้ขาดการสร้างฟิล์มโครเมียมออกไซด์เพื่อป้องกันการเกิดสนิม ดังนั้นบริเวณรอยเชื่อมจะถูกกัดกร่อนได้ง่าย การแก้ไขสามารถทำได้โดยการใช้เหล็กกล้าไร้สนิมที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำ เช่น 316L หรือใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของไททาเนียม หรือไนโอเบียม (stabilized grades) เช่น 347
สเตนเลสตระกูลเฟอร์ริติกมีสมบัติดูดแม่เหล็ก พับม้วน ได้ง่าย แต่ไม่ทนต่อการกัดกร่อนและการขูดขีด มีราคาถูก มีโครเมียมเป็นธาตุผสมหลักระหว่าง 10.5-27 เปอร์เซ็นต์ บางเกรดผสมนิกเกิลลงไปเล็กน้อย บางเกรดผสมโมลิบดินัม หรืออลูมิเนียม ไททาเนียม เป็นตระกูลที่นิยมใช้ในงานผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ช้อนส้อม มีด และเครื่องใช้ในครัว อ่างล้าง เป็นต้น สเตนเลสตระกูลมาร์เทนซิติกเป็นตระกูลที่มีความต้านทานการกัดกร่อนน้อยกว่าออสเทนนิติกและเฟอร์ริติก แต่มีความทนทานและแข็งแรงมากกว่า มีสมบัติดูดแม่เหล็ก โดยทั่วไปจะมีส่วนผสมของโครเมียม 12-14 เปอร์เซ็นต์ โมลิบดินัม 0.2-1 เปอร์เซ็นต์ มีนิกเกิล 0-2 เปอร์เซ็นต์ และมีคาร์บอนผสมอยู่ประมาณ 0.1-1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถชุบแข็งได้โดยการให้ความร้อนแล้วทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็วและอบคืนตัว โดยทั่วไปจะรู้จักกันใน "ซีรี่ส-00" สามารถนำไปใช้ในงานที่ต้องการความทนทานและมีความแข็ง เช่น ทำใบมีด (knife) ตัวยึด กระสวยหรือแกนเพลา หัวฉีด เพลา และสปริง โดยทั่วไปผลิตออกมาในรูปเป็นท่อนแบน แผ่น และงานหล่อ
สเตนเลสตระกูลดูเพล็กซ์ โครงสร้างมีส่วนผสมระหว่างโครงสร้างเฟอร์ไรต์และออสตไนต์ จึงทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าออสเทนนิติกและมีความทนทานต่อการกัดกร่อนชนิดรูเข็มและซอกอับ มีโครเมียมเป็นธาตุผสมอยู่ระหว่าง19 ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ มีโมลิบดินัมสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และมีนิกเกิลน้อยกว่าตระกูลออสเทนนิติก ใช้งานมากในสภาพแวดล้อมที่มีคลอไรด์สูง นำไปใช้ในการทำแผงและท่ออุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchanger) อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ (material handling) ถังเก็บ ( storage tank) และถังหมัก (fermentor) ซึ่งต้องทนความดันในบรรยากาศแวดล้อมของคลอไรด์ที่มีความเข้มข้นสูง
ตระกูลเพิ่มความแข็งโดยการตกผลึก มีความต้านทานการกัดกร่อนเทียบเคียงกับตระกูลออสเทนนิติก มีความแข็งแรงมากกว่าตระกูลมาร์เทนซิติก เกรด 17-4H ที่รู้จักกันทั่วไป มีโครเมียมผสมอยู่ 17 เปอร์เซ็นต์ และมีนิกเกิล 4 เปอร์เซ็นต์ ทองแดง และไนโอเบียมผสมอยู่ด้วย เนื่องจาก สเตนเลสชนิดนี้สามารถชุบแข็งได้ในคราวเดียว จึงเหมาะสำหรับทำแกน ปั๊ม (pump) และหัววาล์ว (valve)
Reference