กระวาน (Round Siam cardamom, Best cardamom, Clustered cardamom และ Camphor seed) เป็นเครื่องเทศ (spices) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Amomum krervanh Pierre ในวงศ์ Zingiberaceae เป็นพืชล้มลุก ชอบขึ้นในป่าดิบชื้นตามภูมิประเทศที่เป็นเขา ทางจังหวัดจันทบุรีและตราด มีความสูงประมาณ 3 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ก้านใบที่มีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนกันแน่นหนาแข็งแรง ใบเรียงสลับกัน แผ่นใบเรียวแหลม ใบยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ดอกกระวาน เจริญออกมาจากส่วนเหง้าใต้ดิน โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นช่อ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลมีลักษณะกลมเป็นพวง เปลือกผิวเกลี้ยง เป็นพูๆ มีสีออกนวลๆ ผลกระวานจะแก่ช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน
เมล็ดกระวานมีขนาดเล็ก สีน้ำตาลแก่ มีจำนวนมาก ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายกับการบูร ช่วงเวลาที่ออกดอกจนผลแก่ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน อีกชนิดหนึ่ง คือ Elettaria cardamomum (L.) Maton ในวงศ์เดียวกัน เรียกว่า กระวานเทศ มาจากประเทศอินเดียตอนใต้ อาจเรียกว่า เอลา ลูกเอ็ล หรือ ลูกเอ็น
การใช้ประโยชน์ของกระวาน
กระวานใช้ในการประกอบอาหาร โดยใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงเผ็ด แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ ใช้แต่งกลิ่นและสีของอาหารหลายชนิด เช่น ใส่ในเหล้า ขนมปัง ขนมเค้ก คุ้กกี้ แฮม ได้จากการนำผลกระวานแก่จัดไปทำแห้ง (dehydration) เพื่อลดความชื้น ส่วนผลอ่อนและหน่ออ่อนใช้รับประทานเป็นผัก
สรรพคุณทางยา
กระวานมีสรรพคุณทางสมุนไพรได้ทุก ๆ ส่วน ทั้งราก ลำต้น หน่อ เปลือก แก่นของลำต้น ใบ ผลแก่ เมล็ด เหง้าอ่อน ใช้แก้ท้องอืด แน่น จุก เสียด ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง แก้ลม ท้องเสีย ฯลฯ กระวานมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นหอม ประกอบด้วยการบูร (camphor) ไพนิน (pinene) ลิโมนีน (limonene) เมอร์ซีน (myrcene) กระวานที่ปลูกที่จังหวัดจันทบุรีเป็นกระวานที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมาก ราคาสูงกว่ากระวานจากแหล่งอื่นๆ
คุณค่าทางโภชนาการ
กระวานมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ
กระวานส่วนที่กินได้ 100 กรัม ให้พลังงาน 254.0 กิโลแคลอรี
โปรตีน 9.5 กรัม
ไขมัน 6.3 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 39.7 กรัม
แคลเซียม 16.0 กรัม
ฟอสฟอรัส 23.0 มิลลิกรัม
เหล็ก 12.6 มิลลิกรัม
Reference
http://www.scimath.org/index.php/biologyarticle/item/495-amomum-krervanh-pierre
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข