เกลือบริโภค (table salt) คือเกลือโซเดียมคลอไรด์ (sodium chloride) ที่เป็นผงละเอียดสีขาว ใช้สำหรับปรุงอาหาร
เสริมไอโอดีนเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ป้องกันการเกิดโรคคอพอกและมีส่วนผสมของสารที่ให้ไอดีนคงตัว (stabilizers
for the iodine) และ anticaking agent เพื่อป้องกันการดูดน้ำ ทำให้เทง่าย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน
สารเคมีที่ใช้ผสมเกลือเพื่อให้ได้เกลือเสริมไอโอดีนมีหลายชนิด เช่น โซเดียมไอโอไดด์ (NaI) โพแทสเซียมไอโอไดด์ (KI)
และโพแทสเซียมไอโอเดต (KIO3)
กรมอนามัยเลือกใช้โพแทสเซียมไอโอเดต เนื่องจากมีความคงตัวสูงกว่าโซเดียมไอโอไดด์และโพแทสเซียมไอโอไดด์
โพแทสเซียมไอโอเดตสามารถทนได้ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูง เกิดการสูญเสียของไอโอดีนในเกลือ ระหว่างการขนส่งและ
การเก็บรักษาก่อนจะถึงผู้บริโภคน้อยกว่าใช้โซเดียมไอโอไดด์ และโพแทสเซียมไอโอไดด์
ไอโอเดตเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นไอโอไดด์ (iodide) เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ จากผลการทดลองในหนูและกระต่าย
พบไอโอไดด์ในกระแสเลือดหลังจากให้กินโพแทสเซียมไอโอเดตเพียง 2-3 นาที
สำนักโภชนาการ กรมอนามัยได้ศึกษาความคงตัวของเกลือเสริมไอโอดีน พบว่า
1. ถ้าเก็บรักษาเกลือเสริมไอโอดีนไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในถุงเปิดหรือถุงที่ปิดสนิท พบว่าภายในเวลา 10 เดือน
ไม่ทำให้ปริมาณไอโอดีนในเกลือลดลง
2. ถ้าเก็บรักษาเกลือเสริมไอโอดีนในถุงที่ปิดสนิท ทั้งที่อุณหภูมิปกติและที่มีความร้อน (อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส)
พบว่า ภายในเวลา 10 เดือน ไม่ทำให้ปริมาณไอโอดีนในเกลือลดลงเช่นกัน
3. ถ้าเก็บเกลือเสริมไอโอดีนในถ้วยเปิดฝาและวางในที่ที่มีความร้อน (อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส) พบว่า ในเดือนที่ 2
ปริมาณไอโอดีนในเกลือลดลงเหลือร้อยละ 74 และในเดือนที่ 10 ไอโอดีนในเกลือลดลงเหลือร้อยละ 69