แคลเซียม เป็นเกลือแร่ที่มีมากที่สุดในร่างกาย โดยแคลเซียมทั้งหมดที่มีในร่างกาย 99 เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน แคลเซียมอีก 1 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ และของเหลวในร่างกาย ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และหัวใจ โดยควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการส่งผ่านของระบบประสาท เป็นธาตุที่จำเป็นในการแข็งตัวของเลือด หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และทารกที่กำลังเจริญเติบโตไปจนถึงวัยรุ่นควรกินแคลเซียมมากกว่าปกติ
ปริมาณที่ควรได้รับ
ความต้องการแคลเซียมของแต่ละวัยแตกต่างกัน ในวัยเด็ก ควรได้รับปริมาณแคลเซียมประมาณ 600 มก.ต่อวัน ในวัยรุ่นควรได้รับประมาณ 1,000-1,500 มก.ต่อวัน ส่วนในวัยผู้ใหญ่ต้องการประมาณ 800-1,000 มก.ต่อวัน ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียมสูงถึง 1,500 มก.ต่อวัน และผู้สูงอายุในวัยทอง ต้องการปริมาณแคลเซียมมากที่สุด เฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 มก.ต่อวัน ฉะนั้น การสะสมปริมาณแคลเซียมควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก ทำได้โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น น้ำนม ถั่วเมล็ดแห้ง ผัก และผลไม้
อาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม
แคลเซียมมีอยู่มากในน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว น้ำนมสด 100 กรัม มีแคลเซียม 118 มก. การดื่มน้ำนมวันละประมาณ 2 แก้วๆ ละ 250 มิลลิลิตร ซึ่งร่างกายจะได้รับแคลเซียมประมาณ 500-600 มิลลิกรัม (มก.)
นอกจากนี้แหล่งสำคัญของแคลเซียมคือ สัตว์น้ำ ประเภทที่กินได้ทั้งกระดูก ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองได้แก่ เต้าหู้แข็ง น้ำเต้าหู้
ผลการวิจัย ของกรมอนามัย ปีพ.ศ. 2554 พบผักพื้นบ้านของไทยที่มีปริมาณแคลเซียมสูง 10 อันดับ ได้แก่ หมาน้อย ผักแพว สะเดา (ยอด) กระเพราขาว ใบขี้เหล็ก ใบเหลียง ยอดมะยม ผักแส้ว ผักฮ้วน (ดอก) และ ผักแมะ
หน้าที่หลักของแคลเซียมในร่างกาย
แคลเซียมเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในทุกส่วนของร่างกาย และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน หน้าที่หลักของแคลเซียม คือ
การขาดแคลเซียม
ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่จะเกิดภาวะกระดูกเสื่อม โรคกระดูกพรุน ภาวะกระดูกเสื่อมเกิดจากร่างกายขาดแคลเซียมหรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายต้องดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เป็นผลให้กระดูกแตกหรือหักง่าย ภาวะกระดูกเสื่อมจะเกิดขึ้นเมื่อใดขึ้นกับปัจจัยของแต่ละบุคคล โดยปกติจะเกิดขึ้นหลังจากอายุ 35-40 ปี โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน
วิตามินดี มีความจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และ ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมของกระดูก กระบวนการเมแทบอลิซึมของวิตามินดี (vitamin D) ช่วยควบคุมการเคลื่อนย้ายของแคลเซียมในร่างกายระหว่างกระดูกและเลือด ตลอดจนส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
น้ำนมแคลเซียมสูง (น้ำนมไฮแคลเซียม, Hi Calcium)
ถึงแม้น้ำนมจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย และเป็นแหล่งแคลเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง แต่น้ำนมไฮแคลเซียม (Hi Calcium) กลับไม่มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างกระดูกให้มากขึ้นกว่าน้ำนมสดธรรมดา
การดื่มน้ำนมไฮแคลเซียมในขณะท้องว่าง ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมผงที่ผสมอยู่ในน้ำนมได้ เนื่องจากไม่มีน้ำกรดช่วยในการดูดซึม แต่ถ้าดื่มน้ำนมไฮแคลเซียมพร้อมกับรับประทานอาหาร น้ำกรดที่หลั่งออกมาจะถูกน้ำนมซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง ลดความเป็นกรดลง ทำให้กระบวนการย่อยดูดซึมแคลเซียมผงที่เติมลงไปในน้ำนมไม่สามารถละลาย และแตกตัวเป็นแคลเซียมอิสระได้ ฉะนั้น การดื่มน้ำนมไฮแคลเซียมจึงไม่ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น และยังเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ดังนั้น การรับประทานแคลเซียมเสริมที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป จึงไม่ควรรับประทานมื้อเดียวกับน้ำนม เสริมแคลเซียม จะต้องรับประทานแยกกับน้ำนมคนละมื้อ ไม่ควรอยู่ในมื้อเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
นิตยสาร ′ฉลาดซื้อ′ ฉบับที่ 90 โดย กองบรรณาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค