แมลงดานา เป็นแมลงมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Lethocerus indicus Lep.-Serv. อันดับ Hemiptera ชื่อวงศ์ Belostomatidae ชื่อสามัญ Giant water bug
ลักษณะทางกายภาพ
แมลงดานาเป็นพวกมวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และนิยมบริโภคกันทุกภาคของประเทศไทย ตัวโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 3 นิ้ว ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ขนาดลำตัวของตัวผู้ยาวประมาณ 70-75 มิลลิเมตร ตัวเมียขนาดประมาณ 80-85 มิลลิเมตร มีลำตัวยาวเป็นรูปไข่ ด้านท้องและทางด้านหลังมีลักษณะแบน หัวสีน้ำตาลแก่ปนเขียว ตาสีดำ ปีกสีเกือบดำยกเว้นบริเวณขอบบางส่วนของปีกมีสีน้ำตาลอ่อน ขาคู่หน้าเป็นแบบขาว่ายน้ำ และมีขนอ่อนสีน้ำตาลคลุมตลอดทั้งขา ปากเป็นแบบเจาะดูด ลักษณะเป็นท่อยาวออกมาจากด้านหน้าของส่วนหัว และเก็บซ่อนไว้ด้านล่างของศรีษะ ปลายปากมีลักษณะคล้ายหนามแหลมเรียวใช้แทงเข้าไปในร่างกายเหยื่อแล้วดูดกินน้ำเหลวๆในตัวเหยื่อ อาหารของแมลงดานา ได้แก่ ลูกกบ ลูกอ๊อด ลูกอึ่งอ่าง ปู ปลา กุ้ง ส่วนท้ายของท้องมีปลายโผล่ออกมา เรียกว่า ระยางค์ (Apical abdominal appendage) ลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว 2 เส้นคู่กัน ประกอบด้วยขนที่ละเอียดและไม่เปียกน้ำ ทำหน้าที่ในการหายใจโดยใช้ระยางค์นี้โผล่ขึ้นมาจากผิวน้ำเพื่อดูดออกซิเจน แล้วนำไปเก็บไว้ในลำตัวทางปลายท่อ
แหล่งที่พบแมลงดานาที่มีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ โดยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น น้ำตามนาข้าว หนอง บึง เป็นต้น ออกหาอาหารในตอนกลางวัน ในตอนกลางคืนเมื่ออากาศเย็นลง ในน้ำมีออกซิเจนอยู่น้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ แมลงดานาจึงบินออกจากแหล่งน้ำ บินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ที่อาศัยอยู่ เมื่อใกล้สว่างจึงอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนกับผิวน้ำที่เรียกว่า "ยูวี" เป็นตัวนำทางในการบินกลับแหล่งน้ำ
ประโยชน์และความสำคัญแมลงดานา ตัวผู้ที่มีกลิ่นฉุน ชาวบ้านนิยมนำไปตำเป็นน้ำพริก น้ำแจ่ว ป่น ส่วนตัวเมียสามารถนำไปปรุงอาหารดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่า หากหาแมลงดานาตัวเมียได้มาก ก็จะนำไปจี่ ก้อย ดอง (ใช้ได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย)
วัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ "กลิ่นแมงดานา" เกิดจากส่วนผสมสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ โพรพีลินไกลคอล (propylene glycol) เอทิลแอซีเทต (ethyl acetate) เฮกซิลแอซีเทต (hexyl acetate) ไดเมทิลซัลไฟด์ (dimethyl sulfide) ซึ่งสารเคมีบางชนิดอาจออกฤทธิ์เป็นอันตรายเฉียบพลัน ที่มีผลทำให้หนูตายได้ถึงร้อยละ 50 หากได้รับปริมาณเกิน 3.7 กรัมต่อกิโลกรัม (ของน้ำหนักตัว)
References
http://pineapple-eyes.snru.ac.th/animal/pupan/index.php?q=node/230