การวัดความเครียด (strain measurement) เป็นการวัดแรงภายนอก (external force) ที่กระทำกับวัตถุ ซึ่งสามารถทำได้โดยการวัดแรงภายใน (internal force) ที่เกิดขึ้นกับวัตถุ ซึ่งแรงภายในนี้เป็นแรงที่สมดุลและมีทิศทางตรงข้ามกับแรงภายนอก เมื่อวัตถุได้รับแรงกระทำจากภายนอกจะเกิดความเค้น (stress) ขึ้นกับวัตถุ และทำให้เกิดความเครียด (strain) ขึ้นภายใน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือรูปร่างของวัตถุหรือเกิดการเสียรูปแรงภายในที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดความเครียดหรือการเสียรูป ซึ่งสัมพันธ์กับแรงภายนอกที่กระทำกับวัตถุ ดังนั้น การวัดการเสียรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงเป็นการวัดแรงภายนอกที่กระทำกับวัตถุนั่นเอง
ในทางวิศวกรรมต้องออกแบบให้วัตถุมีการเสียรูปร่างน้อยที่สุดเมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ ความเค้นที่ใช้ออกแบบหรือความเค้นใช้งานไม่ควรสูงกว่าค่าความเค้น ณ จุดจำกัดสัดส่วน (proportional limit point) (จุด A ในรูป ข) เพราะถ้าเกินจุดนี้วัตถุจะเริ่มมีลักษณะแบบคงรูปหรือเกิดการเสียรูปจนไม่สามารถคืนกลับสู่รูปร่างเดิมได้อีก
ความสัมพันธ์ระหว่างความเค้นกับความเครียด
(ที่มา: นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)
ความเครียดที่เกิดขึ้นภายในวัตถุมีค่าที่น้อยมาก อยู่ในระดับไมโครสเตรนหรือระดับ µm/m ซึ่งการหาค่าความเครียดโดยการวัดระยะความยาวที่เปลี่ยนแปลงทำได้ยาก ดังนั้น ในการวัดความเครียดจึงต้องอาศัยเครื่องมือวัดความเครียดหรือสเตรนเกจ (strain gauge) ที่สามารถตรวจจับระยะการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยได้
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานเครื่องมือวัดความเครียด ได้แก่ การวัดแรงบิดฝาขวด โดยการติดตั้งสเตรนเกจชนิดขดลวดติดแน่นไว้ที่บริเวณส่วนฐานของอุปกรณ์วัดแรงบิด เป็นต้น
ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)