วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ครูผู้น้อยได้มีโอกาส พานักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำลังเรียนวิชา การแปรรูปอาหาร ไปเยี่ยมชมโรงงาน CPF ครั้งนี้เป็นการทัศนศึกษา ครั้งที่ 3 ที่มาเขียน เล่าสู่กันฟัง หลังจากที่ครั้งแรกเขียนเล่าเรื่อง เยี่ยมชมโรงงานผลิตขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ และครั้งที่ 2 ไปเยี่ยมชมโรงงานวันไทยอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อดูการผลิตบะหมีกึ่งสำเร็จรูปยำยำซึ่งทั้งสองแห่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน
ครั้งนี้ พวกเราออกเดินจากคณะวิศวกรรมศาสตร์กันแต่เช้า เหมือนเช่นเคย พวกเราทุกคนรักษาเวลากันดีมาก มีต้องเก็บตกข้างถนน อยู่ไม่กี่คน ที่หมายของเรามุ่งสู่ ถนนสุรินทวงศ์ มีนบุรี ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง รถบัสคณะ ก็มาถึงหน้าโรงงาน อ้อมเข้าไปด้านหลังสุดที่อาคารรับรอง ก็พบกับพี่ๆพนักงานยืนยิ้มแย้มรอเราอยู่ตั้งแต่หัวบันได
เราขึ้นไปบนห้องรับรอง ซึ่งเตรียม พร้อมต้อนรับเราด้วยน้ำหวานเย็นเจี๊ยบในแก้วทรงหรู บนโต๊ะมีแผ่นพับอธิบายกิจการของบริษัท และที่จอหน้าห้องประชุม ก็มีข้อความกล่าวต้อนรับคณะของพวกเรา ... นี่ยังไม่ได้เยี่ยมชม ก็เอาหัวใจไปเกือบหมดดวงซะแล้ว
แผ่นพับสีน้ำตาลเข้ม ที่วางอยู่บนโต๊ะ มีรูปอาหารน่าทานและข้อความหน้าปกที่สะดุดตา ว่า Kitchen of The World สื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธุรกิจที่เรากำลังจะได้เยี่ยมชมกัน คณะของพวกเราได้รับเกียรติ จาก คุณอาร์ม วรพล ผู้จัดการฝ่ายผลิต หนุ่มหล่อไฟแรง คุณเกวลี คนานุรักษ์ ผู้บริหารด้านลูกค้าสัมพันธ์รวมทั้ง น้องจู กับน้อง จ๊อบสาวสวย รวยขำ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นกันเอง
หลังจากที่คุณเกวลี กล่าวต้อนรับเราด้วยหน้าตาแจ่มใส เริ่มต้นน้องจ๊อบ และ น้องจู คู่หู คู่ฮาเปิดรายการ ก่อนด้วยการแจ้งให้เราทราบอย่างภาคภูมิใจ ว่าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ ทาง CPF ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนแล้ว และ พี่จู ให้เรานับว่าธุรกิน โทษค่ะ ธุรกิจ (เห็นแต่ของกิน) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีกี่อย่าง ในวิดีโอแนะนำที่จะเปิดให้เราดู พร้อมปล่อยมุกเด็ดว่า ใครตอบถูกแจก note book ..เล่นแบบนี้ก็ต้องลุ้นกันหน่อยละ
เรารู้จัก CPF เพิ่มขึ้นมากจากการชมวิดีโอ ว่าเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร และการแปรรูปอาหารครบวงจร จริงๆ เริ่มจากกลุ่มวัตถุดิบจากพืชการผลิตเมล็ดพันธ์ ผักการผลิตผักผลไม้สดปลอดสารพิษ ผลิต ข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์แปรรูปข้าวสาร ผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ ข้าวโพดเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งเลี้ยงเพื่อป้อนอุตสาหกรรม
ไปถึงการเลี้ยงสัตว์ แปรรูปเป็นเนื้อสัตว์เช่น เนื้อหมู ไก่ เป็ด ไข่ไก่สด รวมทั้งสัตว์น้ำ เข่น กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม และปลาทับทิม นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปอาหาร จากวัตถุดิบต่างๆ มากมาย ประโยคที่ได้ยินซ้ำไปซ้ำมา คือ คำว่า สด สะอาด และความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งเป็นจุดเน้นของธุรกิจ รวมทั้งมาตรฐานคุณภาพมากมายเป็นหลักประกัน ได้แก่ GMP, HACCP, BRCรวมถึง มาตรฐานด้านที่เกี่ยวกับการรักษา สิ่งแวดล้อมคือISO 14001 นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากโรงงานนี้ ยังได้รับรอง Halal ซึ่งมุสลิมทานได้อย่างสบายใจ 100 เปอร์เซ็นต์
ที่มา : http://www.cpfworldwide.com/
คุณอาร์ม เล่าให้พวกเราฟังว่าโรงงานที่มีนบุรี แห่งนี้สร้างตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งเริ่มแรก ไม่ใช่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เป็นโรงงาน bakery กัน Dim Sum หลังจากนั้นในปี 1990 ได้ปรับปรุง และเปลี่ยนเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และเป็ด เป็นหลัก เราได้ดูเฉพาะส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ (processed chicken) มีทั้งชิ้นส่วนไก่ ชำแหระ สด แช่เย็น และการแช่เยือกแข็งผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สุก (cooking) ด้วยการนึ่ง (steaming) การอบ (roasting) การทอด (frying) มากกว่า 1000 รายการ คิดเป็นน้ำหนักผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 1500 ตันต่อปี มีพนักงานมากว่า 1500 คน ทำงาน กัน 2 กะ กะละ 8 ชั่วโมง เหลืออีก8 ชั่วโมง ไว้สำหรับการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อระหว่างกะ ครั้งละ 4 ชั่วโมง
เราได้ดู แผนผังแสดงการผลิต ของโรงงานก่อนเดินเข้าไปดูสายการผลิตจริง ซึ่งคุณอาร์มเน้นว่า เพื่อความปลอดภัยทางอาหารผังโรงงานได้แบ่งโซน (zoning) การผลิตออกเป็น 2 ส่วนแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม (cross contamination) เรียกว่า ส่วน High risk area และ Low risk area
เราเข้าเยี่ยมชม ซึ่งออกแบบให้เป็นไปตามหลัก GMP ที่ได้เรียนกันมา สถานที่ตั้งตัวอาคารและบริเวณโดยรอบสะอาด ถังขยะมีฝาปิดมิชิด ไม่ปล่อยให้มีการสะสมสิ่งที่ไม่ใช้แล้ว หรือสิ่งปฏิกูลอันอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลง บริเวณพื้นที่ตั้งตัวอาคารไม่มีน้ำขังแฉะและสกปรก รอบบริเวณโรงงาน และทางเข้า มีกรรมวิธี ป้องกันและกำจัดสัตว์รบกวน (pest) และสัตว์นำโรค ตลอดจนฝุ่นผงและสาเหตุของการปนเปื้อน และการปนเปื้อนข้าม (cross contamination)
อาคารผลิตออกแบบและก่อสร้างในลักษณะที่ง่ายแก่การทะนุบำรุงสภาพ รักษาความสะอาด
![]() | ![]() |
บริเวณผลิต วางผังเป็นเส้นตรง มีสองสายการผลิตขนานกัน ปลายสุดด้านหนึ่งเป็นด้านรับวัตถุดิบ และไปสิ้นสุดเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอีกปลายด้านหนึ่ง เราเข้าไปในอาคาร ผลิตโดยเดินภายอาคารบริเวณแนวเดินกลาง มองผ่านห้องกระจกเห็นได้ทั้งสองด้าน เริ่มจากด้านที่บรรจุเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ไปสู่ด้านการรับวัตถุดิบและ การเตรียมวัตถุดิบ
พี่อาร์มอธิบายว่า บริเวณที่ แปรรูปเนื้อสัตว์หลังจากที่ปรุงสุกแล้วก่อนเข้าสู่การแช่เยือกแข็ง และบริเวณ ห้องบรรจุหลังจากผลิตภัณฑ์ผ่านการแช่เยือกแข็งมาแล้ว เป็น บริเวณ High risk area หมายถึง บริเวณที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดการปนเปื้อน และนำอันตราย (food hazard) ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะต้องเป็นห้องแยกออกจากส่วนผลิตอื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมอย่างเคร่งครัดทุกด้าน ตั้งแต่การออกแบบอาคาร ฝ้า เพดาน หลอดไฟเรื่อยมาจนถึงพื้น รางระบายน้ำ เครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหารจะต้องถูกออกแบบอย่างถูกสุขลักษณะ (hygienic designed equipment)
เรื่องการออกแบบเครื่องจักร กระบวนการผลิต และ สถานที่ผลิต อย่างถูกสุขลักษณะนี่ พวกเราวิศวกรรมอาหารที่พระจอมเกล้า ลาดกระบัง จะได้เรียนเรื่องนี้กันอย่างเข้มข้น แต่ไม่เคร่งเครีดดด กว่าจะจบเป็นบัณฑิต ออกไป เราก็จะเป็นวิศวกรอาหารเต็มตัวก็พร้อมใช้งานเพราะหลักสูตรเรา มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตวิศวกร สำหรับอุตสาหกรรมอาหารโดยตรงค่ะ
พี่อาร์มบอกว่า อุณหภูมิในห้องบรรจุ จะควบคุมไม่ให้เกิน 12 ซ เพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) และจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย (microbial spoilage) เราสังเกตุเห็น พนักงานที่อยู่ในโซนนี้ แต่งกายมิดชิด ถูกสุขลักษณะ (personal hygiene) เปิดให้เห็นแต่ลูกกะตาหวานๆ ที่เหลือบมามองทางเรา และแอบยิ้มผ่านกระจก ได้เท่านั้นพนักงานบรรจุก็ทำกันไป แยกเด็ดขาดกับพนักงานสุขศาสตร์ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำความสะอาดเท่านั้น ห้ามหยิบจับ อาหารพวกควบคุมคุณภาพ ก็จะอยู่ในห้องนี้ด้วย สังเกตุดูว่าแต่ละหน้าที่จะมี สีที่คาดหมวกต่างกัน เดี๋ยวเห็นอีกคนหนึ่งเดิน มาเอาลูกกลิ้งมาถูไปมา บนเสื้อพนักงานบรรจุ คุณอาร์มบอกว่าทำความสะอาดป้องกันผม หรือขน หล่น ไปในอาหาร จะมาทุกครึ่งชั่วโมง มุมห้องก็จะมีอ่างล้างมือ อยู่ในห้อง คงเอาไว้ให้ล้างมือ ไม่ต้องเดินเข้าๆออกๆ แหม ครูผู้น้อย ลืมถามว่าแล้วถ้าไปเข้าห้องน้ำทำยังไง ความสะอาดของอากาศในห้อง ก็ต้องควบคุม ให้เป็น positive pressure เพื่อให้อากาศไหลจากส่วนนี้ออกไปส่วนอื่น
เดินดูไปได้พักหนึ่ง สาวๆ เริ่มเบนความสนใจจากห้องบรรจุไก่ มาสนใจว่า พี่อาร์มผู้จัดการหนุ่มสุดหล่อ อายุเท่าไหร่ มีแฟนหรือยัง ครูผู้อยถามให้เรียบร้อยแล้วค่ะ อายุ 32 แต่งงานแล้ว เสียใจด้วยนะจ๊ะสาวๆ แซวกันมาก คุณอาร์ม แก้เขินด้วยการเล่าต่อว่า ระบบการแช่เยือกแข็งของอาหาร เป็นแบบ IQF ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแช่เยือกแข็งแบบนี้จะแยกกันเป็นอิสระเป็นชิ้นๆ เครื่องแช่เยือกแข็งเป็นแบบสายพานวน (spiral freezer) ระยะเวลาการแช่เยือกแข็งของแต่ละผลิตภัณฑ์จะถูกกำหนดมาจากฝ่ายวิจัยและพัฒนา ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งปรับระยะเวลาในการแช่เยือกแข็งได้โดยการปรับความเร็วของสายพานลำเลียงผลิตภัณฑ์ จะแช่แข็งกระทั่งอุณหภูมิใจกลางของผลิตภัณฑ์วัดได้ -18 ซ คุณอาร์มบอกว่า ไก่ที่ผ่านการแช่เยือกแข็งแข็งโป๊ก จนปาหัวแตก เหมือนจะเตือน ว่า หยุดแซวได้แล้ว ถ้าแซวอีกหัวแตกแน่
![]() | |
ที่มา http://www.foodnetworksolution.com/site/company/79/product/356 |
คุณอาร์มชี้ให้เราดู สายการผลิตอาหารที่มีวัตถุดิบซึ่งก่อให้เกิดภูมิแพ้ (food allergen) ซึ่ง แยกกันคนละส่วนกับอาหารปกติ มี วิธีการ และขั้นตอน การทำความสะอาด เครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร ที่แตกต่างกัน รวมทั้งพนักงานที่ทำงานก็แยกกันคนละชุด
ฝ่ายผลิต จึงมีหน้าที่สำคัญคือ วางแผนการผลิตในแต่ละวัน แต่ละเดือนกำหนดชนิดปริมาณของวัตถุดิบเครื่องปรุงรส แป้ง และยังต้องกำหนดชนิดของเครื่องจักร จำนวนพนักงาน ให้สอดคล้องความต้องการการผลิตภายใต้เงื่อนไขมากมายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมีหลากหลายนับไม่ถ้วนกล่าวมาถึงตรงนี้หลายคนเริ่มสนใจว่าเป็นงานที่ สนุก และท้าทายความสามารถ
เราปิดท้ายด้วยการชมส่วน low risk area ซึ่งเป็นส่วนของการเตรียมวัตถุดิบเช่น การหั่น การปรุง การหมัก เนื้อไก่ ด้วยเครื่องปรุงรส ส่วนผสมตามสูตรรวมทั้งส่วนของ การให้ความร้อนด้วยวิธี การอบ การนึ่ง การทอดซึ่งมีตั้งแต่ขั้นตอนการคลุกแป้งแห้ง (pre-dusting) การชุบน้ำแป้ง การชุบเกร็ด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ
ถึงแม้ว่าส่วน low risk area จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าส่วน high risk areaแต่ก็ยังคงความเข้มงวดเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยอุณหภูมิและเวลา ที่ใช้ นอกจากทำให้อาหารสุก อร่อยแล้วยังต้องให้มั่นใจว่าทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) เช่น salmonella, Listeria monocytogenes ที่อาจพบในเนื้อไก่ที่เป็นวัตถุดิบหลัก เนื้อไก่หลังให้ความร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่า 82 ซ สำหรับไก่ติดกระดูกต้องทำให้เนื้อส่วนที่ติดกระดูกมีอุณหภูมิสูงกว่า 85 ซ เพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น สะอาดปลอดภัยดีจังมิน่า ผลิตภัณฑ์ถึงได้ขายดิบขายดี มีลูกค้าทั่วโลก ต้องจับต้องจองกันล่วงหน้าเป็นปี ถึงจะซื้อของเค้าได้
เสร็จการชมสายการผลิตเราก็กลับขึ้นมาที่ห้องเดิม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ไก่ทอด ร้อนๆ พร้อมเครื่องดื่มเย็นเจี๊ยบ ไว้คอย ท่า กำลังหิวเลยค่ะ อร่อยจริงๆ
หลังอิ่มอร่อย ก็เปิดโอกาสให้พวกเราถามคำถาม ใครถาม น้องจู น้องแจ๊บ ก็จะแจก note book ซึ่งเพิ่งจะรู้ว่าคือ สมุดบันทึก โถนึกว่าแจก ipad ...
แต่ความอยากได้สมุดโน๊ตสีสวย ไม่ปราณีพวกเรา กลบเกลื่อนความอายจนสนิท แย่งกันถามจนตอบแทบไม่ทัน มีทั้งคำถามที่มีสาระมาก เน้นเทคนิค เทคโนชนิดจัดเต็ม เรื่อง การฆ่าไก่ การฆ่าหมู น้ำมันทอดอาหาร เครื่องจักรแปรรูปอาหาร และสาระน้อย เน้นความสนุกสนาน เช่น ไก่ที่เลี้ยงตัวผู้ หรือตัวเมีย มาจนถึงคำถามสุดท้ายจาก 6 หนุ่ม ด้านหลังครูผู้น้อย ซึ่งหัวเราะกันครึกครื้น ว่า
" พี่ครับ ทำไมไก่ไม่มีกระดูก"
พี่จู ถึงกับจิ๊ดดด
" มาเลย ออกมาทั้ง 6 คน เลย จัดเต็ม เต้นไก่ย่างถูกเผา หน้าห้อง"
หนุ่มๆ ทำท่าคล้าย เขินอายเล็กน้อย แล้วก็เต้นกันแบบ ลิงสลบ เรียกเสียงฮาลั่นห้อง ถ้ามีปุ่มกด likeจะกดให้คนละทีอยู่ด้วยกันเป็นปีเพิ่ง รู้ว่าเต้นเก่งกันขนาดนี้ ครูผู้น้อยจะเรียกให้เต้นให้ดูนานแล้ว เดี๋ยวกลับไปซ้อมกันให้ดีนะคะ ว่างๆ จะพาไปกันแสดงเก็บตังเราเรียนกันสนุกสนานแต่ก็สาระครบค่ะ
พวกเราทุกคุณได้รับความรู้ ความบันเทิงกันทั่วหน้า ขอขอบพระคุณบริษัท CPF เป็นอย่างสูง พี่ๆทุกท่าน ที่ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง ก่อนกลับเรามีตัวแทนซึ่งหน้าตาดีที่สุดในสาขาวิศวกรรมอาหาร มากล่าวแสดงความซาบซึ้งประทับใจพร้อมมอบของที่ระลึกจากทางสถาบันเพื่อขอบพระคุณ แถมท้ายครูผู้น้อยก็ได้โอกาสแนะนำหลักสูตรสาขาวิศวกรรมอาหาร และ ฝากฝังศิษย์รักสาขาวิศวกรรมอาหาร ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ ของ CPF ถ้าเงินเดือนดี สวัสดิการงามวิศวกรอาหาร จากพระจอมเกล้า ลาดกระบังเก่งและ ดี แม้จะยังไม่มีประสพการณ์ แต่ความสามารถเกินคาด และที่สำคัญไม่มีเกี่ยงงานหนักค่ะ
อาหารเป็นพลังงานของชีวิต วิศวกรอาหารก็เป็นพลังสำตัญพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร นะคะ
แล้วเราก็ถ่ายรูปร่วมกันและเดินทางกลับอย่างสวัสดภาพ แล้วจะมาเยี่ยมใหม่นะคะ
สุดท้าย นำค่านิยม 6 ประการของบริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหรจำกัด มาฝากก่อนจบ