Genetically Modified Organisms เรียกย่อว่า GMOs คือสิ่งมีชีวิต ที่ได้จากการดัดแปรทางพันธุกรรม (genetic engineering) โดยนำเอา DNA ของสิ่งมีชีวิตอื่นจากพืชหรือสัตว์มาใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่ง เพื่อให้มีลักษณะตามที่ต้องการ เช่น ทนต่อแมลงศัตรูพืช โรคและแมลง เน่าเสียช้าลง ทนต่อพื้นที่แห้งแล้งหรือ ให้ผลผลิตสูง มีสารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งการดัดแปรทางพันธุกรรมทำได้ทั้งกับพืชและสัตว์ ปัจจุบันพืชที่มีการดัดแปรทางพันธุกรรม ซึ่งมีการนำเข้าและส่งออกไปทั่วโลกมากที่สุด ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง
อันตรายของอาหาร GMOs ขณะนี้ยังไม่มีรายงานถึงผู้ที่กินอาหารที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอเข้าไปแล้วเกิดผลเสียต่อร่างกาย ในระยะยาว แต่มีความกังวลต่อความเสี่ยงของการใช้ GMOs เช่น กรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้
- สารอาหารจาก GMOs อาจมีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตราย เช่น เคยมีข่าวว่ากรดแอมิโน L-Tryptophan ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเกิดอาการป่วยและล้มตาย อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นนี้แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากความบกพร่องในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพ ทำให้มีสิ่งปนเปื้อนหลงเหลืออยู่หลังจากกระบวนการทำให้บริสุทธิ์มิใช่ตัว GMOs ที่เป็นอันตราย
- สารอาหารจาก GMOs อาจมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่าอาหารปกติในธรรมชาติ เช่น รายงานที่ว่าถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรมมี isoflavone มากกว่าถั่วเหลืองธรรมดาเล็กน้อย ซึ่งสารชนิดนี้เป็นกลุ่มของสารที่เป็น phytoestrogen ( ฮอร์โมนพืช ) ทำให้มีความกังวลว่า การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน อีสโทรเจน อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กทารก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบของการเพิ่มปริมาณสาร isoflavone ต่อกลุ่มผู้บริโภค
- ความกังวลต่อการเกิดสารภูมิแพ้ (food allergen) ซึ่งอาจได้มาจากแหล่งเดิมของยีนที่นำมาใช้ทำ GMOs นั้น ตัวอย่างที่เคยมี เช่น การใช้ยีนจากถั่ว Brazil nut มาทำ GMOs เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีนในถั่วเหลืองสำหรับเป็นอาหารสัตว์
ประเทศไทยกับจีเอ็มโอประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่เป็นจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ นอกจากอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลอง
เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของพืช GMOs
ข้อดี | ข้อเสีย |
1. สามารถต้านทานโรคพืชชนิดรุนแรงได้ | 1. เกิดสารก่อภูมิแพ้ (food allergen) |
2. สามารถต้านทานต่อยาปราบวัชพืช | 2. การต้านยาปฏิชีวนะ |
3. สามารถต้านทานอุณหภูมิต่ำๆ ได้ ทนต่อสภาพการขนส่งได้ดีขึ้น สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ | 3. เกิดไวรัสชนิดใหม่หรือทนทานต่อความแห้งแล้ง ความร้อน |
4. มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เช่น การเพิ่มปริมาณบีตา-แคโรทีน และธาตุเหล็กในข้าวเจ้า | 4. เป็นทาสความรู้ทางเทคโนโลยี |
. | 5 เกิดศัตรูพืชที่มีความต้านทานสูงขึ้น วัชพืชชนิดใหม่ สารพิษชนิดใหม่ |
6. เกิดการผูกขาดพันธุ์พืช |
References : อะไร ? คือ จีเอ็มโอ (GMOs) โดย: นางพูนศรี เลิศลักขณวงศ์