PAHs เป็นกลุ่มของสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเผาไหม้สารประกอบอินทรีย์ต่างๆ อย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาไพโรไลซิส ตัวอย่างเช่น การเผาไหม้ ไม้ฟืน ขี้เลื่อย ถ่านหิน และถ่าน จึงพบ PAHs ได้ในอาหาร ส่วน PAHs ในสิ่งแวดล้อมเกิดจากการเผาไหม้สารอินทรีย์ต่างๆ เช่น การเผาบุหรี่ให้เป็นเถ้า การเผากระดาษ หญ้าแห้ง และขยะต่างๆ ทำให้เกิด PAHs กระจายตัวอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ ดิน และฝุ่นละอองในอากาศ
PAHs พบได้ทั้งในอาหารที่ได้จากธรรมชาติและอาหารที่ผ่านการหุงต้มหรือแปรรูป ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการแปรรูป ตัวอย่างเช่น การปิ้ง ย่าง เผา และรมควันอาหารด้วยวิธีการต่างๆ จะทำให้เกิด PAHs ในอาหารที่มีปริมาณค่อนข้างสูง
PAHs ที่แยกออกมาได้จากอาหารมีมากกว่า 20 ชนิด บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น 1,2-เบนแซนทราซีน (1,2-benzanthracene) เบนโซ(เอ)ไพรีน (benzo(a)pyrene) คริสซีน (chrysene) ฟลูออแรนทีน (fluoranthene) และไพรีน (pyrene) เป็นต้น