การแผ่รังสีอินฟราเรด (infrared radiation) เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิศูนย์องศาสัมบูรณ์ (zero absolute temperature) โดยรังสีอินฟราเรด (infrared) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่ในช่วงของรังสีความร้อน (thermal radiation) มีช่วงความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 0.75 µm ถึง 100 µm ผู้ค้นพบรังสีอินฟราเรด คือ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Sir William Herschel จากการทดลองวัดอุณหภูมิของแถบสีรุ้งจากปริซึม ซึ่งรังสีอินฟราเรดนี้อยู่ในช่วงคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่าความถี่ของแสงสี แดง มนุษย์จึงไม่สามารถมองเห็นแต่สามารถรู้สึกถึงความร้อนได้
สเปคตรัมการแผ่รังสีในย่านต่างๆ
(ที่มา: นวภัทรา และ ทวีพล , 2555)
รังสีอินฟราเรดแบ่งออกเป็น 5 ช่วงตามช่วงของความยาวคลื่น ดังนี้ ช่วง NIR (near-IR: 0.75-2.5 µm) ช่วงคลื่นสั้น (1.4-3 µm) ช่วงกลาง (3-8 µm) ช่วงคลื่นยาว (8-15 µm) และช่วงไกล (extreme: 15-100 µm) โดยรังสีอินฟราเรดในช่วงคลื่นสั้นถึงช่วงคลื่นยาว ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือวัดอุณหภูมิชนิดอาศัยการแผ่รังสีอินฟราเรด เรียกว่า "ไพโรมิเตอร์ชนิดอินฟราเรด (infrared pyrometer)" ใช้สำหรับการวัดอุณหภูมิ (temperature measurement) ที่ผิวของวัตถุ ซึ่งเป็นการวัดแบบไม่สัมผัสและไม่ทำลายวัตถุ ได้แก่ เทอร์โมมิเตอร์ชนิดอินฟราเรด (infrared thermometer) และ "กล้องถ่ายภาพความร้อน (thermal image camera, TI - camera หรือ infrared thermography)
โดยรังสีอินฟราเรดในช่วงคลื่นยาวมีความไว (sensitivity) ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสูงสุดที่ช่วงอุณหภูมิห้อง และรังสีในช่วงกลางมีความไวในการตอบสนองที่อุณหภูมิสูง (ที่อุณหภูมิสูงกว่า 400°C) ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ใช้งานควรเลือกช่วงความยาวคลื่นให้เหมาะสมกับย่านอุณหภูมิที่ใช้งาน (range)
ที่มา: การวัดและเครื่องมือวัด ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (นวภัทรา และ ทวีพล, 2555)