connect networks, collect information, compare solutions, and compile knowledge for your best solution สร้างเครือข่าย รวบรวมข้อมูล เปรียบเทียบโซลูชั่น เพื่อพิจารณา เลือกโซลูชั่นที่ดีที่สุด

Food Wiki

ค้นหา 6,332 คำศัพท์

Shigellosis / โรคบิด

Shigellosis หรือโรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ (food poisoning) ซึ่งเกิดจากติดเชื้อ (infection) จาก แบคทีเรีย Shigella

Shigellosis

ลักษณะโรค เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียร่วมกับอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ตะคริว และปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ ในเด็กอาจพบอาการชัก ในผู้ป่วยที่แสดงอาการชัดเจนนั้น จะถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มูก และหนอง ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีเล็กๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านเยื่อบุลำไส้ เข้าไปก่อฝีในชั้น camina propria ของลำไส้ใหญ่ อาการอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ร่วมกับอาเจียนเกิดขึ้นได้เป็นผลจากสารพิษ enterotoxin ของเชื้อในระยะที่เชื้อผ่านลำไส้เล็ก พบภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ไม่บ่อย อาจพบการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย โดยปกติภาวะการเจ็บป่วยของโรคนี้หายได้เอง ระยะเวลาเกิดอาการตั้งแต่หลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ โดยเฉลี่ย 4-7 วัน ความรุนแรงของโรคและอัตราป่วยตายขึ้นอยู่กับภาวะของบุคคล เช่น อายุ และภาวะโภชนาการ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อและชนิดของเชื้อ Shigella dysenteriae (Shiga's bacillus) เป็นเชื้อที่สามารถสร้างท็อกซิน มากกว่าโรคอื่น จึงเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดภาวะรุนแรงได้มาก และพบว่าทำให้เกิดอัตราป่วยตายสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ในกลุ่มคนไข้ที่รับไว้ในโรงพยาบาล ตรงกันข้าม Shigella sonnei ทำให้เกิดอาการทางคลินิกระยะเวลาสั้นๆ และเกือบไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต ยกเว้นกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สาเหตุ

Genus shigella ในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วย 4 สายพันธุ์ คือ

1. subgroup A (Shigella dysenteraie) แบ่งออกเป็น 12 type: ,

2. subgroup B (Shigella flexneri) แบ่งออกเป็น 6 type และยังแบ่งย่อยออกเป็น subserotype 9 subserotype

3.  subgroup C (Shigella boydii) แบ่งออกเป็น 18 type

4.  subgroup D (Shigella sonnnei) แบ่งออกเป็น 2 phase สำหรับ subgroup A, B และ C ยังแบ่งต่อไปอีก 40 serotypes โดยเขียนเรียงตามตัวเลขอารบิค

ลักษณะจำเพาะของ plasmid มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค วิธีการติดต่อเนื่องจากการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้เป็นพาหะ อาจเป็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ปริมาณเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ (infective dose) สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแต่กินเชื้อเข้าไปจำนวน 10-100 ตัว

ผู้ติดเชื้อส่วนมากจะเป็นพวกที่ไม่ทำความสะอาดมือหลังจากถ่ายอุจจาระ การแพร่เชื้อโดยการสัมผัสทางตรงกับสิ่งของต่างๆ หรือสัมผัสทางอ้อมกับอาหาร ส่วนการแพร่เชื้อผ่านทางน้ำและอาหารโดย แมลงสาบ และแมลงวัน เกิดขึ้นได้จากสัตว์เหล่านี้นำเชื้อมาปนเปื้อน ระยะฟักตัว 1-7 วัน ที่พบบ่อยคือ 1-3 วัน ระยะติดต่อ ตั้งแต่ระยะติดเชื้อเฉียบพลันจนกระทั่งไม่พบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งอาจจะนานถึง 4 สัปดาห์ หลังการเจ็บป่วย

พวกพาหะที่ไม่มีอาการสามารถแพร่เชื้อได้ แต่โอกาสที่เชื้อจะอยู่นานเป็นหลายๆ เดือนนั้นมีน้อย อาการและอาการแสดง ไข้สูง อาจเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นำมาก่อน 2-3 วัน เด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ในวันแรกๆ วันต่อมาถ่ายเป็นมูกปนเลือดเหนียวๆ ซึ่งจะแยกมูกเลือดออกจากเนื้ออุจจาระเห็นได้ชัดเจน อาการท้องเดินและถ่ายเป็นมูกเลือดเกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อผ่านเข้าสู่ผนังลำไส้ ไม่ได้เกิดจากท็อกซิน ปวดเบ่ง มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ถ่ายกระปริดกระปรอย อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน การวินิจฉัยโรค ทำได้โดยการแยกเชื้อจากอุจจาระหรือ rectal swab การดำเนินการทางห้องปฏิบัติการอย่างถูกต้องกับสิ่งส่งตรวจและใช้อาหารเลี้ยงเชื้อหลายๆ ชนิด พบว่าสามารถเพิ่มการแยกเชื้อ Shigella ได้

การติดเชื้อมักเกิดร่วมกับการพบหนองในอุจจาระ ระบาดวิทยาของโรค พบได้ทั่วโลก สองในสามของผู้ป่วยและผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในระยะที่กำลังหย่านม การเจ็บป่วยในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนพบไม่บ่อยนัก การติดเชื้อภายในบ้านเดียวกันพบได้บ่อยมาก คือพบตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึง 40 การระบาดเกิดได้บ่อยในชุมชนแออัดและสุขาภิบาลไม่ดี เช่น คุก โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก
โรงพยาบาลโรคจิตประสาท ที่พักแรมที่อยู่แออัด เรือเดินทางข้ามประเทศ เขตชุกชุมของโรคนี้มีทั้งในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ผู้ป่วยที่ได้รับรายงานนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของผู้ป่วยทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม

โดยปกติพบว่ามีการติดเชื้อมากกว่า 1 serotype ในชุมชน สามารถพบการติดเชื้อร่วมกับเชื้อชนิดอื่นๆ ที่ก่อโรคในลำไส้ เชื้อที่แยกได้ในประเทศกำลังพัฒนาคือ S. boydii, S. dysenteriae และ S.flexneri ในประเทศพัฒนาแล้ว พบเชื้อ S.sonnei บ่อยมากขณะที่ S.dyserteriae ไม่ค่อยพบ

การรักษา การวินิจฉัยได้แต่แรกมีความสำคัญ การให้น้ำและสารเกลือแร่เพื่อชดเชย เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุด ยาปฏิชีวนะช่วยทำให้ระยะเวลาของการป่วยและการพบเชื้อในอุจจาระสั้นลง และควรเลือกใช้เฉพาะรายเมื่อมีเหตุผลสมควรในแง่ของความรุนแรงของการเจ็บป่วย หรือเพื่อป้องกันผู้สัมผัส เช่น ในศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือสถาบันต่างๆ ที่มีข้อบ่งชี้ทางระบาดวิทยา พบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายๆ ชนิดได้บ่อย ดังนั้นการเลือกใช้ยาสำหรับเชื้อควรอาศัยผล antibiogram ของเชื้อที่แยกได้ หรือใช้ตาม antimicrobial susceptibility pattern ในท้องถิ่นนั้น และห้ามใช้ยาเพื่อลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เมื่อเพาะเชื้อจากอุจจาระพบเชื้อ Shigella spp. ยาปฏิชีวนะที่ให้ในเด็กให้

  • Norfloxacin 20 มก./กก./วัน นาน 3 วันหรือ
  • Cotrimoxazole (trimetroprim) 10 มก./กก./วัน นาน 5 วัน
  • Furazolidone 5-8 มก./กก/วัน นาน 5 วัน
ในผู้ใหญ่
  • Norfloxacin 800 มก.ต่อวัน นาน 3-5 วันหรือ
  • Ciprofloxacin 1,000 มก.ต่อวัน นาน 3 วัน
  • Cotrimoxazole160/800 มกวันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน

การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย การป้องกันและควบคุมโรค มาตรการป้องกัน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับโรคบิดมีมากมาย ทุกหน่วยงานสาธารณสุขควรประเมินสถานการณ์เฉพาะท้องที่ และให้การป้องกันการแพร่กระจายโรคอย่างเหมาะสม พบว่าไม่สามารถกำหนดแผนดำเนินงานแบบเดียวกันสำหรับทุกสถานการณ์ ภาวะที่มีอัตราป่วยตายสูงจากการติดเชื้อ S.dysenteriae type 1 ร่วมกับภาวะดื้อยาปฏิชีวนะ ควรมีการค้นหาแหล่งโรค สำหรับการระบาดที่เกิดขึ้นในสถาบันต่างๆ และในกรณีไม่ทราบเชื้อสาเหตุที่แน่นอน ควรแยกผู้ป่วยและผู้เริ่มป่วย และทำการเพาะเชื้อซ้ำในผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด การระบาดที่ยากต่อการควบคุมคือการระบาดในเด็กเล็ก (เพราะยังไม่สามารถใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ) ในกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านจิตประสาท และในสภาวะที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ วิธีป้องกันคือ

1. ให้สุขศึกษาแก่ชุมชน ด้านสุขวิทยาส่วนบุคคล ผู้ที่เป็นพาหะของโรค จะต้องล้างมือให้เป็นนิสัยก่อนและหลังการถ่ายอุจจาระและการปรุงอาหารหรือรับประทานอาหาร และการเสี่ยงต่อการรับประทานผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้างหรือปอกเปลือก อาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุก รวมทั้งการดื่มน้ำที่ไม่แน่ใจว่าสะอาดเพียงพอ

2. มีการกำจัดอุจจาระอย่างถูกหลักสุขาภิบาลป้องกันการปนเปื้อนของแหล่งน้ำบริโภคสาธารณะ การใช้คลอรีนไม่สามารถกำจัด cyst ได้หมด การกรองน้ำผ่านทรายสามารถกำจัด cyst ออกได้เกือบหมด แต่การกรองผ่านดินกำจัด cyst ได้หมด น้ำดื่มจำนวนน้อยๆ เช่น ในกระติกหรือหม้อน้ำดื่ม อาจใช้ไอโอดีนทั้งในรูปน้ำ (8 หยดของ Tincture of iodine 2% ต่อน้ำ 1 ควอตซ์ หรือ 12.5 มิลลิลิตร ของ saturated aqueous solution ของเกลือไอโอดีนต่อน้ำ 1 ลิตร) หรือในรูปเม็ด (1 เม็ดของ tetraclycine hydroperiodide, Globalig, ต่อน้ำ 1 ควอตซ์) หรือที่ดีที่สุดคือใช้วิธีต้ม

3. ให้ความรู้แก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยการติดต่อผ่านอุจจาระสู่ปาก

4. หน่วยงานสาธารณสุขควรดูแลด้านสุขอนามัย ของผู้ปรุงและเสริฟอาหาร และความสะอาดสถานที่ประกอบอาหาร การตรวจร่างกายผู้ปรุงอาหารเป็นประจำ ไม่แนะนำในทางปฏิบัติ

5. การจุ่มผัก หรือผลไม้ในน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่สามารถพิสูจน์ว่าป้องกันได้ แต่การล้างให้สะอาดแล้วผึ่งให้แห้งอาจช่วยป้องกันได้ การฆ่า cyst โดยทำให้แห้งสนิทใช้ความร้อนที่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส (122 องศาฟาเรนไฮต์)  และฆ่าโดยรังสีกำจัดแมลงวัน ปกปิดอาหารจากการตอม โดยใช้มุ้งลวด หรือวิธีอื่นๆ การใช้ยาเพื่อป้องกัน ไม่แนะนำการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม

การแยกผู้ป่วย:ในระยะที่มีอาการต้องมีความระมัดระวังการติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้อบิดจำนวนเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดโรคได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่ควรให้ทำงานด้านการปรุงอาหาร ดูแลเด็กหรือผู้ป่วยจนกว่าผลการตรวจทางอุจจาระหรือ rectal swab ทั้ง 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ไม่พบเชื้อ และต้องไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง หลังหยุดให้ยาปฏิชีวนะ

การทำลายเชื้อ: ในอุจจาระและสิ่งปนเปื้อน ชุมชนที่มีการทำลายเชื้อด้วยระบบกำจัดขยะปฏิกูลที่ทันสมัย อุจจาระสามารถถ่ายทิ้งโดยตรงในท่อระบายโดยไม่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ แต่จะต้องรักษาความสะอาดเพื่อมิให้มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

การแยกผู้ต้องสงสัย: ไม่จำเป็น

การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส: ผู้สัมผัสโรคที่มีอาการควรหยุดการประกอบอาหารและการดูแลเด็กหรือผู้ป่วยทันที จนกระทั่งอาการท้องเสียหยุดหรือผลการเพาะเชื้อจากอุจจาระ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ

การสอบสวนผู้สัมผัสและค้นหาแหล่งโรค: การค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือพาหะที่หายจากอาการป่วยในหมู่ผู้สัมผัสอาจมีส่วนช่วยไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และบางทีอาจช่วยในการควบคุมการระบาด การเพาะเชื้อผู้สัมผัสโดยทั่วไปควรมุ่งในกลุ่มผู้ประกอบอาหาร ผู้ดูแลคนไข้และเด็กในโรงพยาบาลและที่อื่นๆ ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายของเชื้อ

มาตรการในระยะระบาด: หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม ต้องรีบทำการตรวจสอบสวนแหล่งหาแหล่งแพร่เชื้อและวิธีการแพร่โรค แหล่งผลิตและแจกจ่ายน้ำ อาหารและน้ำนม และตรวจตราสุขาภิบาลทั่วไป ให้ทำการควบคุมทันที ไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับการป้องกันก่อนเกิดการติดเชื้อ

โอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่:ในกรณีที่มีปัญหาด้านสุขาภิบาล หรือสุขาภิบาลอาหาร อาจก่อให้เกิดการระบาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากร ที่มีจำนวนผู้ปล่อย cyst ออกมากับอุจจาระจำนวนมาก

มาตรการควบคุมระหว่างประเทศ: มีการประสานงานกับองค์การอนามัยโลก ผ่านศูนย์ Salmonella-Shigella ของกระทรวงสาธารณสุข

 

Reference

ความรู้เรื่องโรค Shigellosis สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

 



(เข้าชม 1,689 ครั้ง)

สมัครสมาชิก