เอนเทอโรแบคเตอร์ ซากาซากิไอ (Enterobacter sakazakii) เป็นแบคทีเรียในสกุล Enterobacter ซึ่งอยู่ในกลุ่มโคลิฟอร์ม (coliform) เป็นจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) จัดเป็นอันตรายในอาหารประเภทอันตรายทางชีวภาพ (biological hazard)
เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 เลขาธิการอาหารและยาได้ประกาศถอนนมผงดัดแปลงสำหรับทารก 3 รุ่นออกจากท้องตลาด เนื่องจากตรวจพบเชื้อ Enterobacter sakazakii อย. ได้สุ่มตรวจนมผงดัดแปลงสำหรับทารก 62 ตัวอย่าง พบเชื้อนี้ใน 3 ตัวอย่าง ( ร้อยละ 5 ) แพทย์บางท่านไม่เคยได้ยินชื่อเชื้อนี้มาก่อน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเชื้อใหม่ มีรายงานเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อตัวนี้ในทารกแรกเกิด 2 ราย ในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ทารกทั้งสองคนเสียชีวิต ในระยะแรกเรียกเชื้อตัวนี้เป็น Enterobacter cloacae ที่มีสีเหลือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการศึกษาถึงพันธุกรรมของเชื้อ พบว่าเป็นคนละกลุ่มกับ Enterobacter cloacae จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Enterobacter sakazakii (เอนเทอโรแบค เตอร์ ซากาซากิไอ) ได้มีการรายงานการติดเชื้อนี้ในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ฝีในกระดูก และสำไส้อักเสบเน่า ( necrotizing enterocolitis : NEC) จนถึงปัจจุบันมีรายงานการติดเชื้อนี้แล้วประมาณ 60 ราย เชื้อโรคนี้ทำให้เกิดโรคในคนได้ทุกอายุ แต่อายุที่พบบ่อยคือทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี ส่วนผู้ใหญ่มักเป็นในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือโรคมะเร็ง ในเด็กที่พบบ่อยคือ ทารกแรกเกิดอายุน้อยกว่า 1 เดือน ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและเด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,000 กรัม รายงานส่วนใหญ่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาคงจะมีไม่น้อย แต่อาจจะวินิจฉัยไม่ได้ หรือเรียกผิดเป็น Enterobacter cloacae อัตราการตายของผู้ที่ติดเชื้อนี้สูงถึงร้อยละ 20-50 บางรายงานมีอัตราการตายสูงร้อยละ 80 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเตือนบุคคลากรทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ให้ระวังถึงความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ E. sakazakii ในทารกแรกเกิดที่รับประทานนมผงดัดแปลง เนื่องจากมีการระบาดบ่อยๆ ของเชื้อ E. sakazakii หลายแห่งในทารกที่รับประทานนมผงดัดแปลงจากบริษัทต่างๆ การระบาดของเชื้อนี้ในหอทารกแรกเกิดได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น แคนาดา อังกฤษ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ กรีซ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เป็นต้น สาธารณสุขของแคนาดาได้เริ่มชี้ให้เห็นว่านมผงที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้ปราศจากเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่ได้ผ่านความร้อนสูงเพียงพอที่จะทำลายเชื้อได้ทั้งหมด นมผงที่ทำจากถั่วอาจจะมีการปนเปื้อนโดยเชื้อนี้ได้เช่นกัน แตกต่างจากนมที่เป็นน้ำสำเร็จรูปพร้อมดื่มของต่างประเทศ ที่ได้ผ่านความร้อนสูง ทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว เชื้อ E. sakazakii มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป จึงมีโอกาสปนเปื้อนในกระบวนการผลิตได้ รวมทั้งภาชนะที่ใช้ชงนม จากการศึกษาพบว่าอาหารเด็กชนิดอื่นไม่มีปัญหา นอกจากนมผง ประมาณร้อยละ 50-80 เกิดจากนมผง อึกประมาณร้อยละ 20 - 50 เกิดจากภาชนะและวิธีการชงนม ได้มีการสุ่มเพาะเชื้อในสหรัฐอเมริกา พบเชื้อ E. sakazakii ใน 20 ตัวอย่าง จากการศึกษา 141 ตัวอย่าง (14%) ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทใด ทุกตัวอย่างที่พบเชื้อปรากฎว่าผ่านมาตรฐาน Codex code ซึ่งกำหนดให้มี coliform ได้ไม่เกิน 3 cfu/g เชื้อ E. sakazakii ถือเป็นเชื้อ coliform ชนิดหนึ่ง ผลการศึกษาพบว่า เชื้อ E. sakazakii ที่ปนเปื้อนมาน้อยกว่า 3 cfu/100g หรือน้อยกว่าที่มาตรฐานกำหนดร้อยเท่า ยังก่อให้เกิดโรคในทารกแรกเกิดได้ องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรได้ประชุมเกี่ยวกับเชื้อนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 และจะมีข้อเสนอแนะสู่การประชุมใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 นี้ ในขณะนี้สิ่งที่ควรทำคือ ให้ประชาชนเข้าใจว่า นมผงอาจมีแบคทีเรียปนเปี้อนอยู่ได้จำนวนน้อยมาก และทารกแรกเกิดควรรับประทานนมแม่ เพราะปลอดภัยและไม่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ ถ้ารับประทานนมแม่ไม่ได้ ควรใช้นมที่ทำสำเร็จพร้อมดื่ม ถ้าไม่มี จะต้องใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยใช้น้ำร้อนที่อุณหภูมิสูง 70-90 องศาเซลเซียส ไม่ควรใช้น้ำที่กำล้งเดือดอยู่ เพราะจะทำลายคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้นมเป็นก้อนและอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุน้ำร้อนลวก เชื้อนี้ทนความร้อนได้ดี สามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เชื้อบางตัวทนความร้อน 50 องศาเซลเซียสได้ แต่ถ้าเกิน 60 องศาเซลเซียส เชี้อจะตาย เมื่อชงนมเสร็จปล่อยให้เย็นแล้วจะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ถ้าทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง เชื้อจะเพิ่มขึ้น 30 เท่า ถ้าทิ้งไว้ 10 ชั่วโมง เชื่อจะเพิ่มขึ้น 30,000 เท่า ควรชงนมสำหรับพอดื่มแต่ละครั้ง ถ้าเหลือควรทิ้งไป ถ้าจะเก็บจะต้องใส่ในตู้เย็นทันทีหลังชง ภาชนะและวิธีการชงจะต้องระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วย บริษัทผลิดนมต่างๆ กำลังหาวิธีการกำจัดเชื่อนี้อยู่ มาตรฐานเชื้อนี้ในนมกำลังได้รับการพิจารณาใหม่อยู่
Reference
ศจ.นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา Enterobacter sakazakii ในนมผงดัดแปลงสำหรับทารก